คหกรรมศาสตร์กับราชมงคลธัญบุรี
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี เดิมชื่อ วิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา
จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2518 ตามพระราชบัญญัติวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา พ.ศ. 2518
ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล ซึ่งเป็นนามพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ภูมิพลอดุลยเดช เมื่อวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2531
และได้มีการตราพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล พ.ศ. 2548
อยู่ภายใต้กระทรวงศึกษาธิการ จัดการเรียนการสอนระดับปริญญาตรี
คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ เดิมชื่อ คณะคหกรรมศาสตร์ และได้เปลี่ยนชื่อเป็น คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์
ในปี พ.ศ. 2549 ซึ่งเป็นชื่อที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน เปิดสอนระดับปริญญาตรีและปริญญาโท
ในสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องกับงานอาชีพด้านคหกรรมศาสตร์
ในชื่อปริญญา คหกรรมศาสตรบัณฑิต (คศ.บ.) ศึกษาศาสตรบัณฑิต (ศษ.บ.)
และคหกรรมศาสตรมหาบัณฑิต (คศ.ม.) ในระดับปริญญาตรีเปิดทำการเรียนการสอน 3 สาขาวิชา ได้แก่
-
สาขาวิชาสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม เดิมชื่อภาควิชาผ้าและเครื่องแต่งกาย และได้เปลี่ยนภาควิชาเป็น
สาขาวิชาสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ในปี พ.ศ. 2550 ซึ่งปัจจุบันมีหลักสูตรคหกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการ
ออกแบบแฟชั่นและนวัตกรรมเครื่องแต่งกาย (หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ. 2563) มุ่งเน้นผลิตบัณฑิตนักปฏิบัติมืออาชีพ มีความคิดสร้างสรรค์ คิดวิเคราะห์นวัตกรรมที่ทันสมัย เชี่ยวชาญและบูรณาการวิชาชีพการออกแบบแฟชั่นและนวัตกรรมเครื่องแต่งกายที่มีมาตรฐาน -
สาขาวิชาอาหารและโภชนาการ ได้เปลี่ยนภาควิชาอาหารและโภชนาการ เป็นสาขาวิชาอาหารและโภชนาการ
ในปี พ.ศ. 2550 ปัจจุบันได้เปิดสอนในหลักสูตรคหกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาอาหารและโภชนาการ
(หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ. 2563) ซึ่งเป็นหลักสูตรที่ผลิตบัณฑิตนักปฏิบัติการที่มีความรู้ ความสามารถทางด้านอาหารและโภชนาการ สามารถสร้างสรรค์และพัฒนาความก้าวหน้าทางด้านอาหาร โภชนาการและนวัตกรรม-
สาขาวิชาคหกรรมศาสตร์ เดิมชื่อ “ภาควิชาคหกรรมศาสตร์ทั่วไป” และ “ภาควิชาพัฒนาครอบครัวและเด็ก” ต่อมารวมทั้งสองภาควิชาเข้าด้วยกัน เป็น สาขาวิชาคหกรรมศาสตร์ ในปี พ.ศ. 2552 ซึ่งปัจจุบันมี 2 หลักสูตรด้วยกัน คือ หลักสูตรคหกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชานวัตกรรมศิลปประดิษฐ์สร้างสรรค์ (หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ. 2566) ผลิตบัณฑิตมีความรู้ ความสามารถ ในการบริหารจัดการนวัตกรรมศิลปประดิษฐ์สร้างสรรค์ สร้างคุณธรรม จริยธรรมในการประกอบอาชีพสามารถสื่อสารและทำงานร่วมกับผู้อื่นเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดแรงงานได้อย่าง มีประสิทธิภาพ และหลักสูตรศึกษาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการศึกษาปฐมวัย (4 ปี) (หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ. 2567) ผลิตบัณฑิตให้มีองค์ความรู้ทางการศึกษาปฐมวัย บูรณาการข้ามศาสตร์เพื่อการเรียนรู้ที่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคมและสภาพแวดล้อมสร้างสรรค์สื่อทางการศึกษาปฐมวัยโดยใช้คหกรรมศาสตร์เป็นฐานผลิตสื่อดิจิทัลและเลือกใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยอย่างรู้เท่าทัน มีทักษะการสื่อสารที่เหมาะสมกับสถานการณ์ ประยุกต์ใช้ความรู้เพื่อการพัฒนางานสู่ความเป็นครูนวัตกรด้านการศึกษาปฐมวัย โดยมุ่งจัดการศึกษาที่เน้นผลลัพธ์การเรียนรู้ที่คาดหวังผ่านกระบวนการเรียนรู้ที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์แก้ปัญหาทำงานแบบมีส่วนร่วมด้วยวิธีการปฏิบัติเชิงรุกที่หลากหลายและฝึกประสบการณ์การทำงานตามหลักเกณฑ์มาตรฐานวิชาชีพครู จรรยาบรรณวิชาชีพครู และเป็นผู้เรียนรู้ตลอดชีวิตเพื่อพัฒนาตนเองมีความรับผิดชอบต่อสังคมความเป็นพลเมืองไทยและพลเมืองโลก
ซึ่งคณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ เปิดสอนระดับปริญญาโท 1 หลักสูตร คือ
หลักสูตรคหกรรมศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ (หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ. 2563) ที่มุ่งเน้นการผลิตมหาบัณฑิต เป็นผู้มีกระบวนการคิดเชิงวิเคราะห์ สร้างองค์ความรู้ และวางแผนบริหารจัดการเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับงานคหกรรมศาสตร์ ให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล
-